พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) (๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๕-๑๖ ตุลาคมพ.ศ. ๒๔๓๔) เป็นชาวฉะเชิงเทรา ท่านได้รับสมญาว่าเป็นศาลฎีกาภาษาไทย เป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย เรียกว่า "แบบเรียนหลวง" ใช้สอนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และหนังสือกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าอีกหลายเรื่อง งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น แม่กองตรวจโคลงบรรยายประกอบรูปภาพเรื่อง "รามเกียรติ์" รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ ๑๐๐ ปี และตัวท่านเองก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งด้วยท่านหนึ่ง

ประวัติความเป็นมาของเว็บไซต์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

     ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มีกลุ่มคณะ ครูอาจารย์ และบรรดาศิษย์ของโรงเรียนดัดดรุณีจังหวัดฉะเชิงเทรา และโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ มีความเห็นพ้องกันว่า พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทราและของประเทศ สมควรเชิดชูเกียรติท่านให้เป็นที่แพร่หลาย โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการเสนอให้ท่านเป็นบุคคลที่มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษาหนังสือไทย และเป็นกวีปราชญ์ของชาติไทย ต่อมาได้มีบุคคลหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินงาน และได้จัดตั้งเป็นกลุ่มเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดยมีคุณครูสอิ้ง กานยะคามินเป็นประธานกลุ่ม
     ได้เริ่มดำเนินการสืบค้น รวบรวมเรียบเรียงประวัติและผลงานของท่านใหม่ รวบรวมเอกสารผลงานของท่าน พร้อมทั้งหาสถานที่ใช้เป็นหอเชิดชูเกียรติ ฯได้รับความเห็นชอบจากผู้ช่วยศาสตราจารย์เอนก เทพสุภรณ์กุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ในสมัยนั้น ให้ใช้สถานที่บริเวณชั้น ๓ อาคารราชนครินทร์ เป็นที่ตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)      ในการดำเนินงานได้ประมาณค่าใช้จ่ายครุภัณฑ์อุปกรณ์ต่าง ๆ ประมาณ ๑,๕๑๐,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะได้รับจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ และเงินบริจาคที่คณะทำงานจะดำเนินการขอรับบริจาค แต่ต่อมานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้จัดสัญจรมาที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะใช้จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นศูนย์กลางข้อมูลภาคตะวันนอก และกำหนดให้มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์เป็นศูนย์กลาง ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ในการจัดทำหอเชิดชูเกียรติฯ คณะเชิดชูเกียรติฯ เห็นพ้องว่าควรหาสถานที่ใหม่
     ต่อมานายวีระชัย ตนานนท์ชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ได้อนุญาตให้ใช้ห้องมุขชั้นบนสุดของอาคารสร้างใหม่ของโรงเรียนเป็นหอเชิดชูเกียรติฯได้ แต่สถานที่ก็ยังไม่เหมาะสม
     ในระหว่างรวบรวมข้อมูลประวัติและติดตามรวบรวมเอกสารผลงานของท่าน มีการสืบค้นทายาทของตระกูลอาจารยางกูร ได้พบว่านายอัมรินทร์ คอมันตร์ บิดาของนายอรรถดา คอมันตร์ เป็นสายตระกูลจากคุณหญิงเล็ก คอมันตร์ ภรรยาคนแรกของพระยาพิพากษาสัตยาธิปไตย (โป๋ คอมันตร์) บุตรหญิงคนสุดท้องของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
     นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ต้องการหาสถานที่ถาวรเป็นเอกเทศในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) จึงสรรหาที่ดิน และบ้านเรือนไม้ทรงโบราณเพื่อนำมาดัดแปลงและประยุกต์เป็นอาคารหอจดหมายเหตุฯ โดยมีเป้าหมายที่บ้านอินทราสา ซึ่งตั้งอยู่หลังอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่บ้านหลังนี้การจัดการมรดกทรัพย์สินยังอยู่ในระหว่างชั้นศาล
     คณะเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ได้ดำเนินการต่อโดยขอใช้ที่ดินของราชพัสดุกรมธนารักษ์ในบริเวณวัดโสธรวรารามวรวิหาร แต่ไม่มีที่ดินว่าง ในที่สุดโครงการนี้จึงได้ยุติลงในปี พ.ศ. ๒๕๕๗
     ในปี พ.ศ ๒๕๕๙ ชมรมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา โดยนายสมบูรณ์ เผ่าบรรจง ประธานชมรมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา ให้สมาชิกเสนอโครงการร่วมฉลองครบรอบ ๑๐๐ปี แห่งการประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี ดร.วรางภรณ์ ไตรติลานันท์ และสมาชิกกลุ่มเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อยอาจารยางกูร) ได้เสนอโครงการเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งท่านเป็นบุคคลสำคัญทางการศึกษาของไทย และเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีชื่อปรากฏในคำขวัญของจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย ที่ประชุมมีมติรับที่จะสืบสานโครงการนี้มาดำเนินการ โดยได้รับความยินยอมจากคณะบุคคลกลุ่มเชิดชูเกียรติ พระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) ให้เป็นผลงานของชมรมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา
     ต่อมาชมรมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา และได้พยายามหาสถานที่จัดตั้งหอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่ยังไม่สามารถหาสถานที่ที่เหมาะสมได้ นายสมบูรณ์ เผ่าบรรจง นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา ได้เริ่มแนวความคิดใหม่เพราะเห็นว่ามีเอกสารทั้งประวัติและผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มากมายที่สมควรนำมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และจะก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับบุคคลที่สนใจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา จึงนำเสนอความคิดให้สร้างเว็บไซต์ เพราะสมาคมฯ มีบุคคลากรที่พร้อมจะดำเนินการทั้งในด้านเทคโนโลยี ด้านข้อมูลและเอกสาร จึงมอบหมายให้ นางสาวชลธิชา นิลพัทธ์ รับผิดชอบด้านเทคโนโลยี นางพรพรรณ นินนาท เป็นผู้ประสานงาน และมีประกาศแต่งตั้งกองบรรณาธิการจัดทำเว็บไซต์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐ โดยมีนายสมบูรณ์ เผ่าบรรจง นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา และนางพรพรรณ นินนาท เลขาธิการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา เป็นบรรณาธิการอำนวยการ แต่งตั้งคณะบรรณาธิการที่ปรึกษาและแต่งตั้งกองบรรณาธิการเป็นคณะทำงาน มีผู้ช่วยศาสตราจารย์พรเลขา ตุลารักษ์ เป็นประธานกองบรรณาธิการ
     คณะทำงานโครงการทั้งหมดได้ช่วยกันขับเคลื่อนงานด้วยการสืบสานปณิธานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกัน และเชิญบุคคลภายนอกจำนวนมากมาให้คำปรึกษาด้านข้อมูลต่างๆ มีการสืบค้นข้อมูลนอกสถานที่ ได้แก่ หอสมุดแห่งชาติ หอสมุดมหาวิทยาลัยศิลปากร หอสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หอจดหมายเหตุแห่งชาติ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สำนักพิมพ์ต้นฉบับและสถานที่อื่น ๆ อีกทั้งติดต่อขออนุญาตสำนักพิมพ์และส่วนงานอื่น ๆ อีกหลายแห่ง เพื่อให้ได้ข้อมูลเพื่อบรรจุในเว็บไซต์ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในรูปแบบ E-Book ให้มีความถูกต้อง แม่นยำ สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะสืบค้นได้ในปัจจุบัน และหวังที่จะเผยแพร่ประวัติและผลงานของท่านออกไปอย่างกว้างขวางอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไปและประเทศชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป

เว็บไซต์นี้ได้รวบรวมประวัติและผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ดังนี้

(กรุณากดที่ชื่อหนังสือ เพื่อไปยัง e-Book ที่ท่านต้องการอ่าน)

๑. e-Book ประวัติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

    ๑.๑  พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ปรมาจารย์ภาษาไทย โดยสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉะเชิงเทรา
    ๑.๒  ประวัติท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เรียบเรียงโดย หลวงมหาสิทธิโวหาร
    ๑.๓  โหราธิบดี ศรีสุนทรโวหาร โดย ฉลอง ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
    ๑.๔  ศรีสุนทรานุสรณ์ รำลึกถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดย สุเมธ สุริยจันทร์
    ๑.๕  ประวัติชีวิตและเกียรติคุณของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม
 

๒. e-Book ผลงานพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

    ๒.๑ แบบเรียนภาษาไทย(แบบเรียนหลวง) ๖ เล่ม : มูลบทบรรพกิจ วาหนิตนิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการรันต์
    ๒.๒ ไวพจน์ประพันธ์
    ๒.๓ พรรณพฤกษา
    ๒.๔ สัตวาภิธาน
    ๒.๕ อนันตวิภาค
    ๒.๖ สยามสาธก วรรณสาทิศ
    ๒.๗ ภาษาไทย เล่ม 1
    ๒.๘ ภาษาไทย เล่ม 2

หนังสือหายาก

    ๒.๙ คำฤษฎี
    ๒.๑๐ วรรณพฤติคำฉันท์
    ๒.๑๑ โคลงอุทัยพากย์
    ๒.๑๒ ฉันท์วิภาค
    ๒.๑๓ โคลงพิพิธพากย์
    ๒.๑๔ โคลงสุภาสิตเจ้านาย


 ๓. มงคลอนุสรณ์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

๓.๑ คำขวัญประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา

" แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย อ่างฤๅไนป่าสมบูรณ์ "  


๓.๒ อนุสาวรีย์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
       สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2542 ณ ถนนศรีโสธรตัดใหม่ เขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา


๓.๓ หอเชิดชูเกียรติ “พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)” ในพิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา  


๓.๔ รูปหล่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่กระทรวงศึกษาธิการ


๓.๕ นามโรงเรียนเทศบาล2 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) สังกัดเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา


๓.๖ นามสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ที่อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
   


๓.๗ นามถนนพระยาศรีสุนทร เชื่อมระหว่างถนนศรีโสธรตัดใหม่ กับถนนสิริโสธร (ถนนบางปะกง-ฉะเชิงเทรา)


๓.๘ นามห้องประชุม “ห้องประชุมศรีสุนทรโวหาร” หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ


๓.๙ นามห้องประชุม “พระยาศรีสุนทรโวหารฯ (น้อย อาจารยางกูร)” ที่ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา


๓.๑๐ เพลงทำนองไทยเดิมพระยาศรีสุนทรโวหารฯ